Perfect Skin Perfect Skin Perfect Skin Perfect Skin Perfect Skin

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ครึ่งปี ตร.จับซอฟต์แวร์เถื่อนเกือบ100แห่ง ความเสียหาย174ล้าน

บก.ปอศ.เปิดเผยข้อมูลการจับกุมองค์กรละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 6 เดือนแรก พบคอมพ์ติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อนเกือบ 1,500 เครื่อง คงเป้าลดการละเมิดเหลือ 70% ภายในสิ้นปี พุ่งเป้าองค์กรและภาคอุตสาหกรรม ห่วงกฎหมายยังไม่เท่าทันเทคโนโลยี

Software

             พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรก บก.ปอศ.ได้ดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซี 91 แห่ง ซึ่งได้ทำการติดตั้งซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 1,434 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 174 ล้านบาท โดยเป็นซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ของบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ อาทิ ไมโครซอฟท์ ออโต้เดสก์ และไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์

             ทั้งนี้ กองบังคับการฯ มีนโยบายเร่งปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยจะมีการให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานต่างๆ ได้ทราบแผนงานปราบปรามและโทษภัยของการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในการทำธุรกิจเพื่อเป็นการแจ้งเตือน และมีนโยบายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไปถึงผู้ค้าปลีกเครื่องและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้ทราบถึงความเสี่ยงในความปลอดภัยของข้อมูลในการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

             อย่างไรก็ตาม การบุกเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ถูกตั้งเป้าหมายไปยังกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีในอัตราสูง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมในภาคการผลิต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและออกแบบตกแต่ง ซึ่ง บก.ปอศ.เล็งเป้าหมายไปที่โรงงานกว่า 1,200 แห่ง บริษัทผู้ส่งออก 600 แห่ง รวมทั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างและออกแบบตกแต่งประเภทธุรกิจละ 350 แห่ง นอกจากนี้ ยังจะขยายผลไปถึงผู้ซื้อและผู้ขายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วประเทศ เพื่อสานต่อการจัดการปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการเป็นอย่างดีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากความร่วมมือของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน ทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีลดลงจาก 80% ในปี 2549 ลงมาเหลือ 72% ในปี 2554 ตามรายงานของไอดีซี

             คาดว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะทำให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากสถานะประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ตามรายงานของสํานักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 ซึ่งจะมีการประเมินประเทศคู่ค้า แต่ละแห่งเป็นรายปีในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการเข้าถึงตลาด (Market Access Practice) ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558

             "อินเทอร์เน็ตและระบบคลาวด์ กลายเป็นปัจจัยทำให้เกิดการล่วงละเมิด ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันยังไม่สามารถรองรับเทคโนโลยีได้อย่างเท่าทัน อย่างไรก็ตาม เรายังตั้งเป้าลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ให้เหลือ 70% ในสิ้นปีนี้ พร้อมรณรงค์ให้ภาคอุตสาหกรรมและเอกชนให้ความสำคัญในการจัดทำกลยุทธ์ เช่น การปรับลดราคาซอฟต์แวร์ เพื่อกระตุ้นหู้บริโภคทั้งในส่วนองค์กรและประชาชนเห็นความคุ้มค่าในการใช้งานสินค้าลิขสิทธิ์มากขึ้น" พ.ต.อ.ชัยณรงค์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น