สำหรับ ระบบปฏิบัติการ หลักๆ ที่ถูกนำไปใช้บนสมาร์ทโฟน จะถูกนำไปเปรียบเทียบกันแค่ 2 ระบบปฏิบัติการหลักๆ นั่นก็คือ Android กับ iOS เนื่องจากเป็น ระบบปฏิบัติการ ที่มีผู้ใช้มากที่สุดนั่นเอง แต่ในระยะหลัง ระบบปฏิบัติการ Windows Phone ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นแล้ว จากการเปิดตัว Nokia Lumia ในหลายๆ รุ่นนั่นเอง และในตอนนี้ ระบบปฏิบัติการ Windows Phone ก็มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นในหลายๆ ประเทศอีกด้วย
หลังจากที่เราได้เห็น บทความเปรียบเทียบ ระบบปฏิบัติการ Android กับ iOS มามากพอสมควรแล้ว คราวนี้ มาดูกันว่าระหว่าง ระบบปฏิบัติการ Android กับ Windows Phone จะมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง แต่ละแพลทฟอร์ม จะมีจุดเด่นกันในส่วนใด ในรูปแบบของ Infographic ครับ
เริ่มกันที่ อินเทอร์เฟส Home Screen กันก่อน โดยทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการนี้ มีอินเทอร์เฟสที่แตกต่างกัน สำหรับระบบปฏิบัติการ Android นั้น จะมีอินเทอร์เฟสอย่างไร ขึ้นอยู่กับแบรนด์นั้นๆ ด้วยว่า จะนำไปปรับแต่งต่ออย่างไร อย่างเช่น มือถือซัมซุง จะใช้อินเทอร์เฟสแบบ TouchWiz หรือ มือถือเอชทีซี จะใช้อินเทอร์เฟสแบบ HTC Sense เป็นต้น ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยน Widget ได้ตามใจชอบ หรือถ้าไม่ชื่นชอบ Launcher ที่มีอยู่ ก็สามารถไปดาวน์โหด Launcher อื่นเพิ่มเติมได้จาก Play Store
ส่วน Windows Phone อินเทอร์เฟสจะเป็นแบบ Live Tiles มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม และสามารถปรับขนาดของ Live Tiles ให้เล็ก หรือใหญ่ได้ตามใจ นอกจากนี้ ยังสามารถดึงข้อมูลอัพเดทต่างๆ มาแสดงในไอคอน ได้อีกด้วย
ถัดมา เป็นเรื่องของ ระบบปฏิบัติการ และ แอพพลิเคชั่น กันบ้าง โดย ระบบปฏิบัติการ Android นั้น เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิด ทำให้สามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว สังเกตได้จากจำนวน แอพพลิเคชั่น บน Play Store ที่มีมากกว่า 600,000 แอพพลิเคชั่นแล้ว อีกทั้ง ยังมี แอพพลิเคชั่นฟรี มากกว่าแพลทฟอร์มอื่นๆ อย่างไรก็ดี ข้อเสียของระบบปฏิบัติการแบบเปิดนี้ก็คือ มักจะมี แอพพลิเคชั่นที่เป็นมัลแวร์ ปะปนมาเสียส่วนใหญ่ ฉะนั้น ถ้าหากใช้งานแบบไม่ระวัง หรือดาวน์โหลดจากแหล่งไม่ทราบที่มา ก็มีโอกาสที่จะติด มัลแวร์ ได้สูง
ส่วน ระบบปฏิบัติการ Windows Phone เป็นระบบปฏิบัติการแบบปิด เช่นเดียวกับ iOS และมีนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นน้อยกว่า ทำให้ มีจำนวนแอพพลิเคชั่น บน Windows Phone Store เพียง 100,000 แอพพลิเคชั่นเท่านั้น แต่ข้อดีสำหรับ Windows Phone ก็คือ รองรับโปรแกรมจัดการเอกสาร จำพวก Microsoft Office มากับตัวเครื่อง และไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม ซึ่งสามารถสร้าง หรือแก้ไขไฟล์เอกสาร ได้เหมือนกับการใช้งานบน คอมพิวเตอร์พีซี ในขณะที่บน ระบบปฏิบัติการ Android ถ้าหากต้องการใช้แบบ full version จะต้องเสียเงินซื้อ
ในเรื่องของ เว็บเบราว์เซอร์ บนระบบปฏิบัติการ Android นั้นก็คือ Google Chrome ซึ่งสามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว และรองรับวิดีโอบนหน้าเว็บไซต์ ส่วนบนระบบปฏิบัติการ Windows Phone จะเป็น Internet Explorer หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อของ IE ซึ่งถือว่า ทำงานได้ไม่แพ้ Chrome เลยนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ระบบปฏิบัติการ Android กินขาดในเรื่องของ search engine กับ google.com ที่ได้รับการยอมรับว่า เป็น search engine ที่ดีที่สุด และมีข้อมูลมากที่สุด ส่วนบน Windows Phone นั้น จะเป็น Bing Search ที่ยังไม่รองรับการค้นหาด้วยภาษาไทยมากเท่าที่ควร
สำหรับเรื่องของ แผนที่ บนระบบปฏิบัติการ Android นั้น โดดเด่นด้วย Google Maps ที่มีรายละเอียดของเส้นทาง ตรอกซอกซอย ที่ละเอียดทุกซอกทุกมุม รองรับมุมมองแบบ 3 มิติ และรองรับ Google Street View ส่วนบน Windows Phone จะใช้ Here Map ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นแบบนำทาง ที่ได้รับการยอมรับว่า ใช้งานได้ดี สามารถใช้งานแบบออฟไลน์ได้ รองรับการแสดงผลแบบ 3 มิติ และสามารถบอกเส้นทางเป็นภาษาไทยได้
มากันที่เรื่องของ สังคมออนไลน์ หรือ Social Network กันบ้าง โดย Play Store บนระบบปฏิบัติการ Android รองรับการใช้งานครบทุกฟังก์ชันการใช้งาน เทียบเท่า iOS เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, LINE, WhatsApp รวมไปถึง Instagram ส่วนบน Windows Phone นั้น ก็มีแอพพลิเคชั่นดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน แต่ฟังก์ชันบางอย่าง ยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ และยังไม่รองรับ Instagram อีกด้วย
ปิดท้ายกันที่ ระบบการทำงานแบบ Multi-tasking กันบ้าง โดยทั้ง 2 แพลทฟอร์มนี้ รองรับการทำงานแบบ Multi-tasking ด้วยกันทั้งคู่ แต่สำหรับบนระบบปฏิบัติการ Android จะโดดเด่นกว่าตรงที่ มีสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่รองรับการทำงานแบบ 2 หน้าจอได้พร้อมกัน ซึ่งถือว่า เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งบน Android
ส่วนระบบปฏิบัติการใด จะเหมาะสมกับผู้ใช้มากที่สุด คงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้งาน และความชื่นชอบเป็นหลักครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น